ลีลาชีวิต / ทวี สุรฤทธิกุล
ในช่วงวัยรุ่นถ้ามี “แรงบันดาลใจ” อะไรจะฝังใจแน่นหนามาก
มีหนังสืออยู่ 2 – 3 เล่มที่เป็นแรงบันดาลใจให้ผม “อยากจะเป็นโน่นเป็นนี่” ซึ่งเป็นหนังสือที่อยู่ในห้องสมุดของโรงเรียนวัดมกุฏกษัตริย์ ห้องเล็กๆ แค่ 6 คูณ 20 เมตร แต่เป็น “โลกกว้าง” สำหรับหลายๆ คน
เล่มแรก คลับคล้ายคลับคลาว่าชื่อ “กล้องและการถ่ายภาพ” โดย พยุง จอมพิทักษ์ (ค้นดูในกูเกิ้ล ผู้เขียนท่านนี้เป็นช่างภาพภาพยนตร์ ส่วนใหญ่จึงเป็นตำราเกี่ยวกับการถ่ายภาพยนตร์ มีเล่มหนึ่งชื่อ “การถ่ายภาพแผนใหม่” พิมพ์เมื่อ พ.ศ.2503 น่าจะใกล้เคียงกับเล่มที่ผมเคยอ่านใน พ.ศ. 2515 นั้นมากที่สุด) ที่ประทับใจหนังสือเล่มนี้มากเพราะสมัยนั้นยังไม่มีเครื่องถ่ายเอกสาร พอผมอ่านจบเล่มแล้วก็อยากได้เก็บไว้ใช้งาน เพราะเป็นหนังสือที่สอนการปฏิบัติ ตั้งแต่ส่วนประกอบต่างๆ ของกล้อง ไปจนถึงการล้างฟิล์มและการอัดภาพ (ซึ่งในยุคนั้นเป็นภาพขาวดำ) ผมจึงยืมเอามานั่งลอกด้วยลายมือ “ทั้งเล่ม” ทีละหน้า แม้แต่ที่เป็นรูปส่วนประกอบของกล้องและภาพประกอบที่สำคัญ ผมก็เอากระดาษไขมาทาบวาดก๊อบปี้เอาไปทุกหน้า เพื่อประหยัดเงินที่จะต้องไปหาซื้อมาทั้งเล่ม (น่าเสียดายที่เวลาผ่านไป กระดาษที่คัดลอกไว้ก็ชำรุดเสียหาย จึงเหลืออยู่เพียงความทรงจำ และภูมิใจในความพยายามในครั้งนั้น)
หนังสือเล่มนี้เป็นการสนอง “ตัณหาส่วนตัว” ที่อยากเป็นช่างภาพ เพราะ “หลงเสน่ห์” ของการบันทึกภาพ ที่เป็นทั้งศิลปะและการบันทึกความทรงจำ แต่กว่าจะมีกล้องเป็นของตัวเองก็ต้องใช้เวลาอีก 10 ปี ตอนที่อยู่มหาวิทยาลัยแล้ว และถ้าพอเก็บเงินได้เมื่อไรก็จะ “เจียด” ไปซื้อกล้องที่ชอบมาใช้ บางตัวก็เก็บไว้ บางตัวก็ขายไป ปัจจุบันเป็นยุคกล้องดิจิทัล ถ่ายง่าย ไม่ต้องระวังว่าจะเปลืองฟิล์ม ราคาก็ไม่แพง มือถือราคาไม่กี่พันบาทก็ถ่ายได้สวยงาม แต่ก็เป็นอีกคนละความรู้สึกกับ “กล้องฟิล์ม” ที่กลายเป็นอดีตไปแล้วนั้น
เล่มต่อมา “7 สิ่งมหัศจรรย์ของโลก” จำผู้เรียบเรียงไม่ได้ แต่จำได้ว่าเป็นหนังสือเล่มหนามาก ขนาดปกก็ใหญ่กว่าหนังสือทั่วไป เป็นหนังสือที่พิมพ์ภาพประกอบสี่สี(หมายถึงต้องพิมพ์ถึงสี่ครั้งในแต่ละภาพ เพื่อให้แม่สีแต่ละสีมาผสมภาพให้ใกล้เคียงสีธรรมชาติมากที่สุด อันเป็นเทคนิคการพิมพ์สีในยุคแรกๆ) 7 สิ่งมหัศจรรย์นั้นก็คือ กำแพงเมืองจีน พีรามิดที่อียิปต์ วิหารพาเธนอนที่กรีก โคลีเซียมที่โรม สโตนเฮนจ์ที่อังกฤษ ทัชมาฮาลที่อินเดีย และแกรนด์แคนยอนที่สหรัฐอเมริกา ความมหัศจรรย์ของหนังสือเล่มนี้ก็คือเป็นการ “เปิดโลก” ในช่วงที่กำลัง “เปิดตัว” หรือการแสวงหาตัวตนของวัยรุ่น วัยที่เต็มไปด้วยความใฝ่ฝัน อยากเผชิญโลกออกไปผจญภัย เพียงแต่ยังขาดความพร้อม ไม่มีเงินพอ และขาดประสบการณ์ หนังสือที่ให้ความรู้ทั้งในทางประวัติศาสตร์และการท่องเที่ยวอาจจะช่วยสนองตอบต่อ “ความกระหายอยาก” นั้นได้เป็นอย่างดี ซึ่งในทางส่วนตัวของผมทำให้เรารู้สึกว่า “ตัวเล็กลง” เพราะคนที่เป็นวัยรุ่นบางทีก็รู้สึกว่าตัวเรานี้ช่างยิ่งใหญ่เหลือเกิน เป็นความรู้สึกอย่างที่คนโบราณเรียกว่า “จองหองพองขน” ที่บางทีก็ทำอะไรแบบบ้าระห่ำ ขาดการยั้งคิด แต่ถ้ารู้สึกว่าตัวเราไม่ได้ใหญ่ไปกว่าคนอื่น แล้วยิ่งมองไปรอบข้างกลับมีขนาดเล็กนิดเดียว เราก็จะรู้สึก “เจียมตน” และระมัดระวังที่จะไม่ทำตัว “ขวางโลก” ต่างๆ
เล่มสุดท้าย “นักวิทยาศาสตร์เอกของโลก” เล่มนี้ก็จำผู้เขียนไม่ได้เช่นกัน จำได้แต่ว่าเป็นหนังสือเล่มเล็กๆ ขนาดพ็อกเกตบุ๊ก มีประวัติและผลงานของนักวิทยาศาสตร์หลายคน ที่จำได้เพราะมีความชื่นชอบเป็นการส่วนตัว ก็เช่น ลูเธอร์ เบอร์แบงค์ นักพฤกษศาสตร์ชาวอังกฤษ ผู้ค้นพบหลักพันธุกรรมของพืช การถ่ายทอดลักษณะเด่นลักษณะด้อยไปสู่พืชรุ่นต่างๆ โธมัส อัลวา เอดิสัน คนนี้คงไม่บรรยายอะไรมากเพราะเป็นผู้ประดิษฐ์สิ่งของมากมาย ที่โดดเด่นคือหลอดไฟ เครื่องบันทึกเสียง และเครื่องฉายภาพยนตร์ ชาร์ลส์ ดาร์วิน บิดาแห่งทฤษฎีวิวัฒนาการ ที่มีแนวคิดว่า “โลกนี้ผู้แข็งแกร่งและปรับตัวได้เท่านั้นที่จะอยู่รอด” และมาดามมารี คูรี ผู้ค้นพบรังสีเอกซเรย์ ซึ่งต้องสละชีวิตในการค้นพบนั้นเพราะต้องรับรังสีอันตราย(แต่มีคุณประโยชน์ในทางการแพทย์มหาศาล)อยู่เป็นเวลานานในการทดลองครั้งแล้วครั้งเล่าจนถึงแก่ชีวิตดังกล่าว
ในชั่วโมง English Reading ครูบุษบาเคยให้นักเรียนเล่าเรื่อง “Your Favorite Book” ต่อหน้าเพื่อนๆ ในห้องเรียน (เล่าเป็นภาษาไทย แต่ตอบคำถามเป็นภาษาอังกฤษ) ผมก็เลือกหนังสือนักวิทยาศาสตร์เอกของโลกเล่มนี้ โดยเล่าประวัติชีวิตของมาดามคูรี ซึ่งคุณครูก็ถามว่าทำไมจึงเลือกนักวิทยาศาสตร์คนนี้ ผมก็ตอบว่าเธอเป็นผู้เสียสละสุดยอด มีความพยายามเป็นอย่างยิ่งในการวิจัยรังสีเอกซเรย์ท่ามกลางอันตราย ไม่เพียงแต่เป็นผู้หญิงเก่ง แต่ยังเป็นคนที่ “ดีมากๆ” อีกด้วย (ผมใช้ภาษาอังกฤษง่ายๆ ตอบครูบุษบาว่า She is very smart and very good.) แล้วก็มองไปที่คุณครู สังเกตว่าคุณครูก็เขินๆ อยู่เหมือนกัน
การแสวงหาความรู้ในห้องสมุดก็เป็นทางลัดในการเรียนรู้โลกกว้าง แต่ก็คงเทียบไม่ได้กับการได้ไปเห็นของจริงหรือสถานที่จริง ในตอนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 ผมได้ทำงานกับชุมนุมสังคมศึกษา ตอนนั้นที่โรงเรียนมีโครงการที่จะเปิด “วิทยุนักเรียน” คือระบบเสียงตามสายในเวลาที่พักเที่ยง เพื่อให้ข่าวสารและแจ้งกิจกรรมต่างๆ ของโรงเรียน แต่ยังขาดอุปกรณ์คือลำโพงที่จะไปติดตามจุดต่างๆ และสายที่จะโยงจากเครื่องขยายเสียงในห้องของชุมนุมสังคมศึกษาไปยังลำโพงเหล่านั้น ซึ่งประมาณว่าน่าจะใช้เงินสัก 4,000 – 5,000 บาท พวกผมก็เลยคิดจัดทัศนศึกษา โดยมีครูบุษบาเป็นที่ปรึกษา เราตกลงกันว่าจะไปที่ “เมืองโบราณ” สมุทรปราการ ซึ่งตอนนั้นเพิ่งเปิดมาได้ไม่นาน ตอนแรกเรากะว่าน่าจะมีผู้สนใจไม่เกิน 100 คน แต่พอรับสมัครจริงๆ มีผู้สนใจถึง 300 กว่าคน จากที่ต้องใช้รถเมล์(เช่า)สัก 2 คัน ก็กลายเป็น 8 คัน ซึ่งก็มีราคาพิเศษให้นักเรียน รวมทั้งค่าเข้าชมที่เมืองโบราณก็ได้ราคาพิเศษเช่นกัน ทำให้ลดราคาตั๋วทัศนศึกษาได้มาก จากที่คิดว่าจะเก็บคนละ 50 บาท ก็เหลือคนละ 40 บาท (ใน พ.ศ. 2515 ก๋วยเตี๋ยวตามร้านห้องแถวราคาชามละ 2 – 3 บาท) ทั้งยังมีอาหารกลางวันเป็นข้าวห่อให้ทุกคนด้วย (สมัยนั้นยังไม่มีอาหารกล่องและน้ำขวด นักเรียนจึงต้องมีกระติกน้ำไปกินกันเอง) และจากกำไรที่กะว่าจะได้สัก 3,000 – 4,000 บาท ก็มีกำไรเกือบ 8,000 บาท ทำให้สามารถซื้อเครื่องขยายเสียงเครื่องใหม่ให้กับโรงเรียนได้อีกด้วย จึงเป็นความภูมิใจของพวกเราที่ได้ทำเพื่อโรงเรียนในครั้งนั้น
ยุคนั้นเป็นสมัยที่นักเรียนนิสิตนักศึกษากำลัง “เฟื่อง” เราจึงคิดทำอะไรได้มากมาย
"ในตอนแรก" - Google News
June 06, 2020 at 12:10AM
https://ift.tt/2AIoVnX
ครูบุษบา (5) - สยามรัฐ
"ในตอนแรก" - Google News
https://ift.tt/2AnIstz
No comments:
Post a Comment