ชีพจรเศรษฐกิจโลก ไพรัตน์ พงศ์พานิชย์
การลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแบบกะทันหันของ “ชินโสะ อาเบะ” ผู้นำที่ได้ชื่อว่าอยู่ในตำแหน่งยาวนานที่สุดของญี่ปุ่น หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ก่อให้เกิดข้อกังขาขึ้นไม่น้อยต่อทิศทางในวันข้างหน้าของญี่ปุ่น โดยเฉพาะการบริหารจัดการเศรษฐกิจที่ดูเหมือนหลาย ๆ ประการยังคงไม่สะเด็ดน้ำ
อาเบะสร้างชื่อขึ้นมาควบคู่กับนโยบาย “อาเบะโนมิกส์” ที่เน้นแก้ไขปัญหาภาวะซบเซาชะงักงันที่เกาะกินเศรษฐกิจญี่ปุ่นมาร่วม 20 ปี ให้ขยายตัวขึ้นด้วยการดำเนินการ 3 อย่างที่เรียกกันว่า “3 ศร” ซึ่งประกอบด้วย การกระตุ้นด้วยนโยบายทางการเงิน, นโยบายด้านการคลัง และการปฏิรูปโครงสร้างทางเศรษฐกิจ
7 ปีเศษในตำแหน่งนายกรัฐมนตรี อาเบะดูเหมือนจะประสบความสำเร็จอยู่บ้าง โดยเฉพาะในตอนแรกเริ่มดำเนินการในปี 2013 ที่ผ่านมา “อาเบะโนมิกส์” ช่วยกระตุ้นให้เกิดการขยายตัว ธุรกิจเริ่มกลับมามีกำไรอีกครั้ง เงินเยนอ่อนค่าลง ตลาดหุ้นถีบตัวสูงขึ้น แต่ไม่ช้ามนต์ขลังของนโยบายก็เสื่อมลง
ถึงตอนนี้เศรษฐกิจญี่ปุ่นเข้าสู่ภาวะถดถอยอย่างเป็นทางการ จีดีพีหดตัวติดต่อกัน 3 ไตรมาส อัตราเงินเฟ้อยังคงอยู่ในระดับต่ำกว่าเป้าหมาย 2% ที่กำหนดไว้อยู่ไม่น้อย ดีมานด์ภายในประเทศยังไม่ขยับตัวอย่างที่คาดหวัง ด้วยเหตุที่ว่าค่าจ้างแรงงานก็ไม่ได้เพิ่มขึ้นถึงระดับที่ต้องการ แต่ที่เพิ่มขึ้นอย่างน่ากลัวก็คือ ปริมาณหนี้สาธารณะที่เวลานี้อยู่ในระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 250% ของจีดีพี
“ชิเงโตะ นางาอิ” นักวิเคราะห์ออกซฟอร์ด อีโคโนมิกส์ ชี้ให้เห็นว่า อาเบะโนมิกส์มีประสิทธิภาพไม่น้อยในการสนับสนุนธุรกิจขนาดใหญ่ โดยการผลักดันให้ตลาดหุ้นขยายตัวและก่อให้เกิดความรู้สึกว่า อัตราแลกเปลี่ยนของเงินเยนมีเสถียรภาพ อย่างน้อยที่สุดการแข็งค่าแบบฉับพลันจะไม่เกิดขึ้นอีก แต่เมื่อค่าแรงไม่ขยับ ผลประโยชน์ของอาเบะโนมิกส์ก็ไม่สามารถตกถึงครัวเรือนทั่วไป ส่งผลให้ไม่สามารถกระตุ้นดีมานด์ภายในขึ้นได้นั่นเอง
“อาเบะโนมิกส์” ถูกขยับขยายให้เป็น “วีเม่นโนมิกส์” ตั้งเป้าจะผลักดันสตรีชาวญี่ปุ่นให้เข้าสู่ตลาดแรงงานมากขึ้น ชดเชยการขาดหายของแรงงานเนื่องจากสภาวะสังคมสูงวัย ซึ่งก็ตกอยู่ในสภาพล้มเหลวบ้าง ประสบความสำเร็จอยู่บ้างอีกเช่นกัน คือทำให้อัตราการจ้างงานผู้หญิงในญี่ปุ่นเพิ่มสูงขึ้น แต่ไม่สามารถแก้ปัญหาที่ผูกโยงอยู่กับวิถีและวัฒนธรรมของประเทศได้
ผลก็คือ ผู้หญิงญี่ปุ่นเข้าสู่ตลาดแรงงาน เฉพาะในส่วนที่ค่าจ้างราคาถูก และเป็นตำแหน่งงานไม่ประจำแทบทั้งสิ้น
1 ใน 3 ศรที่นักสังเกตการณ์ชี้ว่า อาเบะล้มเหลวที่สุด ก็คือการปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจ ที่ตั้งเป้าว่าจะใช้เป็นเครื่องมือเสริมผลิตภาพและรับมือกับภาวะสังคมสูงอายุ และปริมาณประชากรหดตัวลงของญี่ปุ่น
อาเบะสามารถผ่อนคลายภาวะตึงตัวในตลาดแรงงานลงได้อยู่บ้าง แต่ยอมรับเองว่า ยังคงห่างไกลจากการให้เกิด “การปฏิวัติเชิงผลิตภาพ” ขึ้นในญี่ปุ่น อย่างที่ตั้งเป้าไว้
อาเบะเคยประกาศใช้เงินนับพันล้านดอลลาร์ในการส่งเสริมให้ชาวญี่ปุ่นมีลูกหลานเพิ่มขึ้น ถึงขนาดก่อตั้งกระทรวงขึ้น เพื่อหยุดยั้งภาวะประชากรหดตัวลงโดยเฉพาะ
จนถึงขณะนี้ ญี่ปุ่นก็ยังประสบปัญหาขาดแคลนแรงงานอย่างหนัก ขณะที่การปฏิรูปเชิงโครงสร้างสำคัญ ๆ อย่างเช่น การปฏิรูปการคลังภาครัฐ, การปฏิรูประบบบำเหน็จบำนาญ และระบบหลักประกันสุขภาพ รวมทั้งนโยบายการย้ายถิ่นและแรงงานอพยพ ยังไม่ถูกแตะต้องในช่วง 7 ปีเศษของอาเบะ
การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้สถานการณ์เศรษฐกิจของญี่ปุ่นเลวร้ายลงกว่าเดิมหลายเท่าตัว จีดีพีไตรมาสที่ 2 ของปีนี้หดตัวลงรุนแรงถึง 27% การบริโภคภายในที่เคยลดลงเพราะการขึ้นภาษีการบริโภคเมื่อปีที่ผ่านมา ยิ่งหดตัวลงมากขึ้นไปอีก
ในความเห็นของผู้เชี่ยวชาญ ไม่ว่าใครก็ตามที่สืบทอดตำแหน่งผู้นำต่อจากอาเบะ น่าจะยังคงนโยบายการคลังแบบเดียวกันเอาไว้ ธนาคารกลางของญี่ปุ่นก็ไม่น่าจะเปลี่ยนแปลงนโยบายการเงินที่ดำเนินมาตลอด 7 ปีแต่อย่างใด
ปัญหาที่สำคัญที่สุดก็คือ ทายาทผู้สืบทอดตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต่อจากอาเบะ อาจไม่มีเวลาเหลือพอที่จะหลีกเลี่ยงการปฏิรูปโครงสร้างครั้งใหญ่ของญี่ปุ่นอีกแล้ว
"ในตอนแรก" - Google News
September 05, 2020 at 08:38AM
https://ift.tt/322eUgB
มองเศรษฐกิจญี่ปุ่น หลังยุค "ชินโสะ อาเบะ" - ประชาชาติธุรกิจ
"ในตอนแรก" - Google News
https://ift.tt/2AnIstz
No comments:
Post a Comment