ซึ่ง ณ เวลานี้ นับว่า CPTPP เป็นเขตการค้าเสรีที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดเป็นอันดับ 3 ของโลกเลยก็ว่าได้ แต่เดิมทีมีการคาดหวังว่า CPTPP จะเป็นเขตการค้าเสรีที่ใหญ่ที่สุดในโลกเลยทีเดียว
แล้วเพราะอะไรทำให้ไม่ได้เป็นอย่างที่หวัง?
คำตอบอยู่ตรงนี้!!
เดิมทีแล้ว CPTPP เป็นแนวคิดของอดีตประธานาธิบดีสหรัฐฯ "บารัค โอบามา" แต่ครั้งนั้นรู้จักกันในชื่อว่า TPP ย่อมาจาก Trans-Pacific Partnership หรือ "ความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก" ซึ่งนับเป็นหนึ่งในนโยบายหลักที่อยู่ใน "ยุทธศาสตร์ปักหมุดเอเชีย"
แต่แล้วฝันยังไม่ทันได้เป็นจริง!!
เมื่อ "โดนัลด์ ทรัมป์" ก้าวขึ้นมาเป็น "ประธานาธิบดีสหรัฐฯ" คนใหม่ ก็ทำเรื่องตรงกันข้าม ด้วยการ "ถอน" สหรัฐอเมริกาออกจาก TPP ทันทีเมื่อวันที่ 23 มกราคม 2560 พร้อมลั่นวาจาดังฉะฉานว่า "ข้อตกลง TPP เป็นอันตรายต่อสหรัฐอเมริกาอย่างยิ่ง"
ทั้งที่ก่อนหน้านี้มีการคาดการณ์ว่า TPP จะช่วยส่งเสริมการส่งออกของสหรัฐอเมริกาและดันเศรษฐกิจให้เติบโต โดยปี 2568 จะมีมูลค่าการส่งออกกว่า 10 ล้านล้านบาท
แต่ความหวังของ "โอบามา" ต้องดับวูบไป พับ TPP เก็บใส่ลิ้นชัก
ส่วนประเทศอื่นๆ ที่ถูกดึงมาร่วมหัวจมท้าย TPP ด้วยกันในตอนแรก ใครที่คิดว่าสหรัฐอเมริกาถอน แล้วคนอื่นจะถอย ขอบอกว่าไม่!!
นอกจากไม่ถอดใจแล้ว เหล่าประเทศสมาชิกเดิมยังฟื้นคืนข้อตกลงการค้าเสรีขึ้นมาใหม่อีกครั้ง แล้วจัดการลบบทบัญญัติออกถึง 22 ข้อ ที่ล้วนแต่เป็นบทบัญญัติที่สหรัฐอเมริกาสนับสนุน ซึ่งประเทศอื่นๆ มองว่า "มันไม่จำเป็นและไม่ได้ประโยชน์อะไร"
จนกลายมาเป็น CPTPP ในวันนี้นั่นเอง
และที่บอกไว้ว่า ความคาดหวังเป็นเขตการค้าเสรีที่ใหญ่ที่สุดในโลกต้องจบลง นั่นก็เพราะว่า เมื่อ "สหรัฐอเมริกา" ประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในโลก ถอนตัวออกจาก TPP ก็ทำให้การรวมตัวเป็น CPTPP มีขนาดเศรษฐกิจเล็กลง จากเดิมที่อยู่ราวๆ 38-40% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมโลก มูลค่าราว 3,396 ล้านล้านบาท ก็เหลือเพียง 13-14% เท่านั้น
สำหรับสิทธิประโยชน์หลักๆ ที่ CPTPP นำเสนอต่อประเทศสมาชิก และประเทศอื่นๆ ที่จะเข้าร่วมในอนาคต ก็อย่างเช่น ในระหว่างประเทศสมาชิกด้วยกันจะมีการกำหนดกำแพงภาษีต่ำ หรือบางสินค้าและบริการอาจถึงขั้นขจัดกำแพงภาษีเลย อีกทั้งยังเปิดโอกาสทางการค้ากับตลาดใหม่ๆ ที่อาจช่วยส่งเสริมให้ประเทศสมาชิกพัฒนาคุณภาพและปรับปรุงสินค้าในการเข้าตีตลาดในประเทศอื่นๆ ได้
โดยครอบคลุมสินค้าและบริการจำนวนมาก ทั้งบริการด้านการเงิน การสื่อสารทางไกลโดยใช้เทคโนโลยี และมาตรฐานความปลอดภัยทางอาหาร
ส่วนคำถามที่คาใจใครหลายๆ คนว่า "ถ้าไทยเข้าร่วมจะได้อะไรกับเขาบ้าง?"
ก็ขอไล่ตอบเป็นข้อๆ ตรงนี้ คือ
1. บอกไปแล้วว่า CPTPP เปิดโอกาสทางการค้ากับตลาดใหม่ๆ ดังนั้น ไทยเองก็เช่นกัน มีโอกาสที่จะเพิ่มการส่งออกไปยังประเทศสมาชิกอื่นๆ ได้ โดยเฉพาะกับบางประเทศที่ไทยไม่ได้มีการทำข้อตกลงสิทธิประโยชน์ทางภาษีร่วมกันมาก่อนเลย เช่น แคนาดาและเม็กซิโก
2. ไทยอาจกลายเป็นฐานการผลิตใหม่ ซึ่งนับว่าสำคัญมากๆ ในอนาคตมีการคาดการณ์ว่า โควิด-19 อาจทำให้เกิด New Supply Chain ที่อาจย่นระยะใกล้ๆ เพื่อง่ายต่อการผลิต ดังนั้น ประเทศในกลุ่มสมาชิก CPTPP ที่อยู่ภูมิภาคเดียวกัน หรือประเทศที่มีการทำการค้ากับกลุ่มประเทศสมาชิก ก็อาจเข้ามาลงทุนในไทยเพิ่มมากขึ้น แต่หากไทยไม่เข้าร่วม CPTPP ก็อาจเสียโอกาสตรงนี้ไปให้กับประเทศเพื่อนใกล้เรือนเคียงอย่าง "เวียดนาม" ได้
และ 3. เพิ่มความสามารถทางการแข่งขันของไทยในระยะยาว
แต่เมื่อมีได้ก็ย่อมมี "เสีย" เช่นกัน!!
ข้อแรกคงหนีไม่พ้นความกังวลที่หลายๆ คนกำลังคิดไม่ตก และกลายมาเป็นข้อถกเถียงในวงกว้าง คือ ผลกระทบที่มีต่อ "อุตสาหกรรมการเกษตร" เพราะ CPTPP จะเปิดโอกาสให้ประเทศสมาชิกส่งสินค้าเข้ามาแข่งขันในไทยได้มากขึ้น โดยเฉพาะ "ปุ๋ย" ที่บางประเทศถือเป็นสินค้าเกษตรส่งออกหลักเลยทีเดียว และในส่วนนี้ยังมีบทบัญญัติที่เรียกว่า UPOV หรือ "ข้อบัญญัติที่สมาชิกต้องเข้าร่วมในอนุสัญญาการคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่" ที่เปิดโอกาสให้ประเทศสมาชิกอื่นๆ อีกแล้ว คือ สามารถนำ "พันธุ์พืชไทย" ไปวิจัยและพัฒนา แล้วสามารถจดสิทธิบัตรได้อีกด้วย
แน่นอนว่า กระทบกับเกษตรกรแบบเต็มๆ!!
กระทบอย่างไร?
หากเป็นไปตามบทบัญญัติที่ว่านี้ เกษตรกรไทยจะไม่สามารถเก็บเมล็ดพันธุ์พืชไว้ปลูกต่อได้ เพราะหากมีลักษณะที่ไปเหมือนกับที่มีการจดสิทธิบัตรไว้ ถือว่าใช้ไม่ได้!! ดังนั้น เกษตรกรต้องซื้ออย่างเดียว กลายเป็นเพิ่มต้นทุนทางการเกษตรให้สูงขึ้นอีก
ต้นทุนเพิ่ม! สินค้าก็ต้องราคาเพิ่ม!
และอีกข้อหนึ่ง คือ ผลกระทบต่อ "ธุรกิจบริการ" ที่มีการระบุว่า ประเทศสมาชิก CPTPP สามารถกำหนดหมวดธุรกิจการบริการได้ว่าไม่อยากเปิดเสรีอันไหน ซึ่งส่วนนี้เองที่เป็นปัญหา หมายความว่า หมวดธุรกิจการบริการอื่นๆ ที่ไม่ได้กำหนดไว้จะต้องเปิดให้นักลงทุนต่างชาติทั้งหมด และเมื่อนักลงทุนต่างชาติเข้ามามากๆ ก็อาจทำให้ไทยเสียตลาดท้องถิ่นของตัวเองได้
ส่วนข้อโต้แย้งอื่นๆ ที่เป็นข้อกังวล คือ การเข้าร่วม CPTPP ให้สิทธิประโยชน์กับแค่บางกลุ่มเท่านั้น!!
โดยจากการศึกษาของ Asian-Pacific Resource & Research Centre for Women (ARROW) แสดงให้เห็นว่า CPTPP จะได้ประโยชน์แค่เพียง "ประเทศที่พัฒนาแล้ว" เท่านั้น
ยกตัวอย่างกรณีของ "นาฟต้า" หรือ ข้อตกลงการค้าเสรีอเมริกาเหนือ (North America Free Trade Agreement: NAFTA) ที่ทำให้ประเทศที่ยังไม่พัฒนาได้รับผลกระทบ เช่น เม็กซิโก ที่พบว่า ความเหลื่อมล้ำเพิ่มขึ้นถึง 3 เท่าจากค่าเฉลี่ยขององค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (OECED) ซึ่งกว่าครึ่งหนึ่งของประชากรในประเทศอยู่ในสถานะ "ยากจน"
มาที่อีกด้านหนึ่งของ CPTPP กลายเป็นสนามประลองเชิงของ 2 ขั้วมหาอำนาจโลกไปแล้ว
หลังสหรัฐอเมริกาถอนตัวออกจาก TPP ทางจีนเองก็กลับมามีท่าทีสนอกสนใจเข้าร่วมเป็นสมาชิก CPTPP อีกครั้ง นับเป็นนัยสำคัญที่แสดงถึงการเปลี่ยน "ดุลอำนาจทางเศรษฐกิจ" ในอนาคต
และเมื่อจีนมีท่าทีสนใจแบบนี้ ทางสหรัฐอเมริกาเองก็มีความกังวลว่า "จีนอาจฉวยโอกาสใช้ CPTPP ในการเลี่ยงกำแพงภาษีสงครามการค้า" ซึ่งในความเป็นจริง หากมาดูดีๆ แล้ว ไม่ว่าจีนจะร่วมหรือไม่ร่วม CPTPP ก็สามารถส่งวัตถุดิบให้กับประเทศสมาชิก CPTPP เช่น เวียดนาม ได้เหมือนเดิม และนั่นทำให้จีนสามารถส่งผลิตภัณฑ์สำเร็จรูปไปสหรัฐอเมริกาได้โดยไม่ต้องเสียภาษีอยู่ดี
ขณะที่ "ทรัมป์" เอง ก็มีการเปรยสัญญาณเป็นพักๆ ว่า อาจกลับมาเข้าร่วม CPTPP อีกครั้ง หากว่าเขาได้รับ "ดีลที่ดีกว่าสมัยโอบามา"
มาถึงตรงนี้ ข้อสรุปสั้นๆ ของ CPTPP แม้ว่าจะทำให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ หรือ GDP เติบโตขึ้น รายได้เพิ่มขึ้น แต่ก็อาจต้องแลกด้วยการเสียเปรียบในบางธุรกิจที่อาจกระทบต่อประชาชนในประเทศ
จึงเป็นที่น่าจับตาว่า "ไทยจะเลือกเข้าร่วมหรือไม่?" และสุดท้าย CPTPP จะกลายเป็นเขตการค้าเสรีที่กลายเป็นสนามประลองยุทธแห่งใหม่ของ 2 ขั้วมหาอำนาจ "จีน-สหรัฐอเมริกา" หรือไม่?.
ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน
ข่าวอื่นๆ :
"ในตอนแรก" - Google News
June 06, 2020 at 05:30AM
https://ift.tt/2BDv31a
รู้จัก CPTPP ได้หรือเสีย เวียดนามรอเสียบ จับตาจีนดุลอำนาจ ศก. (คลิป) - ไทยรัฐ
"ในตอนแรก" - Google News
https://ift.tt/2AnIstz
No comments:
Post a Comment